อาณาบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเดินผ่านประตูวิเศษไชยศรี เข้ามา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับภาพที่เห็นนี้อยู่เป็นเวลานานกับการเก็บภาพความประทับใจเบื้องแรก กันแทบทุกคน เป็นมุมที่จะสามารถมองวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้กว้างมาก และปูชนียสถานที่สำคัญของวัดจะอยู่ในภาพนี้ด้วย วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังอีกที การเข้าชมจึงต้องผ่านประตูพระบรมมหาราชวังชั้นนอกเข้ามา แล้วเดินไปยังบริเวณวัดซึ่งจะมีพระระเบียงคดรอบอีกชั้นหนึ่ง
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้ว นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
เรียกว่าเป็นวัดที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย เป็นพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ที่ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐาน พระมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ด้วย
จวนถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเดินตามทางมาเรื่อยๆ จะเป็นเส้นทางที่จะเข้าไปวัดพระแก้ว ด้านหน้าที่เห็นไกลๆ ก็คือพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวอาคารด้านซ้ายคือศาลาสหทัยสมาคม เป็นสถานที่พระราชอาคันตุกะซึ่งเสด็จฯ และเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จัดงานเลี้ยงถวายเป็นการตอบแทน และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ได้รับพระมหากรุณาฯ เป็นนาคหลวงทำพิธีปลงผม ก่อนเข้าพระราชพิธีอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในอดีต คือ หอสมุดวชิรญาณ
ด้านขวาก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชย์ต่างๆ
เมื่อผ่านประตูเข้ามา เราก็จะเจอท่านฤาษีนั่งยิ้มเหมือนกำลังจะรอต้อนรับอยู่
จากข้อมูลบอกว่า รูปฤาษีนี้คือหมอประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า หรือท่าน "ชีวก โกมารทัจน์" ท่านเป็นที่นับถือของผู้ที่ศึกษาทางด้านการแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะมาขอพรจากท่านกัน
ถ้าเดินเลี้ยวซ้ายมาหน่อย เราจะพบกับ ยักษ์ทวารบาล ซึ่งเป็นความเชื่อว่าจะทำหน้าที่ป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาภายในบริเวณวัด ทั้งหมดมีอยู่ 6 คู่ด้วยกัน
พระอุโบสถ
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2322 ในการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ใช้เวลา 3 ปี สำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ. 2328 ต่อมา เมื่อประมาณได้เกิดเพลิงไหม้บุษบกทรงพระแก้วมรกตซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมขึ้นใหม่ให้ทันฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปลายรัชกาล
หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นใหม่โดยมีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมไทย ย่อมุมไม้สิบสอง (สี่ด้าน ด้านละสามมุม) ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามแบบจีน เป็นลวดลายต่างๆ วิจิตรพิศดารอย่างยิ่ง ปัจจุบันได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่เพื่อเฉลิมฉลองใ นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549
นครวัดจำลอง ขนาดของแบบจำลองถือว่าใหญ่พอสมควรที่จะทำให้เห็นส่วนต่างๆ ได้ดี ถ้าใครคิดอยากไปชมนครวัดสักครั้งในชีวิต แต่ยังหาโอกาสไปไม่ได้สักที ลองมาชม นครวัดจำลอง ที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ไปถ่ายแบบมาจากนครวัด เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นของแปลกมหัศจรรย์ แล้วในขณะนั้นกัมพูชายังเป็นประเทศราชของไทยอยู่
พระศรีรัตนเจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานทางทิศตะวันตก สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ โดยจำลองแบบมาจากเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยา องค์เจดีย์มีความสูงประมาณ 40 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อสมัยแรกสร้างนั้นยังมิได้มิได้มีการประดับกระเบื้อง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) จึงได้มีการประดับกระเบื้องโมเสสสีทองทั้งองค์เจดีย์
เมื่อเดินออกจากส่วนของวัดพระแก้วแล้ว พอพ้นประตูออกมาทางด้านซ้ายมือเราจะพบ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงซึ่งพระมหากษัตริย์จะเสด็จออกว่าราชการที่นี่ และเป็นพระที่นั่งองค์เดียวในหมู่พระมหามณเฑียรที่เราสามารถเข้าไปชมได้ แต่ก็เปิดเฉพาะในวันราชการเท่านั้น ถ้ามาวันเสาร์อาทิตย์ก็คงจะอดชมกัน
ด้านในของพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยเนี่ย ถึงจะได้เข้าแต่ก็ห้ามถ่ายรูป ด้วยความที่เป็นท้องพระโรงก็จะเป็นห้องโถงโล่ง ด้านในจะมีพระราชบัลลังค์ที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ยังใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อย่างพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีสงกรานต์ ฯลฯ
ถัดจากพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยก็จะเป็น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี มีลานด้านหน้าพระที่นั่งที่กว้างและสวยงามยิ่งทำให้พระที่นั่งดูโอ่อ่าสง่างาม และแน่นอนว่าใครที่ได้มีโอกาสมาชมเป็นต้องชักภาพไว้เป็นที่ระลึกคู่กับพระ ที่นั่งองค์นี้กันทั้งนั้น
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นอาคารแบบยุโรปสมัยสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ส่วนหลังคาสร้างตามแบบไทยมียอดปราสาท 3 ยอด เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบยุโรปกับไทยได้อย่างสวยงาม
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ที่จะเปิดให้เข้าชมได้ ภายในมีศิลปะวัตถุชิ้นเอกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 คือพระแท่นราชบัลลังก์ประทับมุก และพระแท่นบรรจถรณ์ประดับมุก พระที่นั่งองค์นี้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1
มาถึงตรงนี้แล้วส่วนมากก็มักจะเลี้ยวออกประตูที่อยู่หน้าพระที่นั่งจักรีฯ กลับกันแล้ว
ถ้ามีโอกาสก็อยากจะเชิญชวนให้มาชมวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง สามารถเข้าชมได้ ตั้งแต่ 8.00 - 16.00 น. สำหรับคนไทย และ 8.30 - 15.30 น. สำหรับชาวต่างประเทศ ส่วนที่ศาลหลักเมืองก็เปิดตั้งแต่ 05.30 - 19.30 น.